วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

นวัตกรรมทางการศึกษาที่สำคัญ

นวัตกรรมทางการศึกษาที่สำคัญ
ดิฉันได้เข้าอินเตอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลในการทำวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งสิ่งที่ต้องการก็ถูกค้นพบที่นี คือ การเลือกใช้นวัตกรรมในการทำวิจัย เมื่อมีอะไรดีๆก็อยากจะแนะนำทุกท่านที่เข้ามาได้รับรู้บ้าง เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการนสอนของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะแนะนำในวันนี้ มี 10 ตัวอย่าง ซึ่งท่านทั้งหลายสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของเนื้อหาสาระที่สอน และความต้องการของเด็กๆได้ ไปศึกษากันเลยค่ะ...........
นวัตกรรม เป็นความคิดหรือการกระทำใหม่ๆ ซึ่งนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละวงการ จะมีการคิดและทำสิ่งใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น นวัตกรรม จึงเป็นสิ่งที่มีขึ้นใหม่ได้เรื่อยๆ สิ่งใดที่คิดและทำมา นานแล้ว ก็ถือว่า หมดความเป็นนวัตกรรมไป โดยจะมีสิ่งใหม่มาแทนในวงการศึกษาปัจจุบัน มีสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมทางการศึกษา หรือนวัตกรรมการเรียนการสอน อยู่เป็นจำนวนมาก บางอย่างเกิดขึ้นใหม่ บางอย่างมีการใช้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังคงถือว่าเป็น นวัตกรรม เนื่องจากนวัตกรรมเหล่านั้นยังไม่แพร่หลายเป็นที่รู้จักทั่วไป ในวงการศึกษา นวัตกรรมทางการศึกษาต่างๆ ที่กล่าวถึงกันมาก ได้แก่ บทเรียนโปรแกรม ชุดการสอน ศูนย์การเรียน คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การสอนทางไกล ฯลฯ
1 บทเรียนโปรแกรม บางครั้งเรียกว่า บทเรียนสำเร็จรูป programed book, Scramble book บทเรียนด้วยตนเอง เป็นบทเรียนที่จัดลำดับประสบการณ์ให้กับผู้เรียนโดยอาศัยหลักความสัมพันธ์ของสิ่งเร้ากับการตอบสนองที่ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ มีลักษณะที่สำคัญคือ เนื้อหาของบทเรียน ถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ สั้นๆ เรียกว่า "กรอบ" (Frame) ซึ่งจะถูกจัดลำดับขึ้นจากสิ่งที่ง่าย ไปหาสิ่งที่ยาก แต่ละกรอบมีคำอธิบายและคำถามต่อเนื่องกันไป คำถามอาจให้ เติมคำ ถูกผิด หรือเลือกคำตอบ เมื่อผู้เรียนตอบคำถามแล้ว จะสามารถตรวจคำตอบได้ทันทีว่า คำตอบของคนนั้นถูกหรือผิด นักเรียนจะศึกษาไปตามลำดับขั้นและ ปฏิบัติตามคำแนะนำที่กำหนดไว้ในแบบเรียน แบบเรียนนี้จะทำหน้าที่แทนครูเป็นรายตัว (Tutor)
2 เครื่องสอน (Teaching machine) เครื่องสอนคือ เครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สอนนักเรียนเป็นรายบุคคล มีส่วนประกอบ ที่สำคัญคือรายการสอน(Programs) ซึ่งหมายถึง สิ่งพิมพ์ หรือสิ่งที่เขียนเป็นรายการป้อนเข้าไปในเครื่องสอนเพื่อใช้เป็นบทเรียนให้นักเรียน เรียนได้ด้วยตนเองผู้เรียนจะต้องสามารถเข้าใจได้ทันทีและกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากรู้อยากเห็นอยู่ได้ตลอดเวลา เครื่องสอนอาจรวมเอาสื่อ หรือเทคนิคหลายอย่างประกอบกัน ซึ่งจะเป็นการเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
3 การใช้คอมพิวเตอร์การเรียนการสอน (CAI)ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ ได้ถูกนำมาใช้กับการเรียนการสอนมากขึ้น ทั้งในรูปของคอมพิว เตอร์จัดการสอน(CMI) และคอมพิวเตอร์ช่วยสอน(CAI) กลายเป็นรูปแบบของการเรียนการสอนแนวใหม่ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง บทเรียนของคอมพิวเตอร์จะถูกทำให้เป็นโปรแกรมที่แปลกใหม่ ผู้เรียนไม่รู้สึกเบื่อหน่ายต่อการเรียนและดูเหมือนว่า คอมพิวเตอร์จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบทเรียนแบบโปรแกรม
4 ชุดการสอน และโมดูล (Instructional packages and module)เป็นวิธีการจัดเตรียมกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เลือกสรรแล้ว อันประกอบด้วย จุดมุ่งหมาย เนื้อหาและวัสดุอุปกรณ์ทั้งหลาย ที่รวบรวมไว้เป็นระเบียบ เพื่อให้ครูหรือผู้เรียนได้ศึกษาจากประสบการณ์ทั้งหมดนี้ชุดการสอนสร้างขึ้นโดยอาศัยหลักการและทฤษฏีที่สำคัญ คือการใช้สื่อประสม และการใช้วิธีวิเคราะห์ระบบ รู้จักแพร่หลายในชื่อต่างๆ กัน เช่น Learning package, Instructional Packages, Instructional Kits. ฯลฯ
5 การสอนเป็นคณะ (Team teaching) การสอนเป็นคณะเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบหนึ่ง ที่จัดให้ครู ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ทำการสอนร่วมกัน โดยอาจอาศัยครูผู้ช่วย มาช่วยงานด้านวางแผนการสอน เพื่อให้ได้ประโยชน์จาก ความสามารถพิเศษของครูผู้ร่วมคณะ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Team teaching จำนวนนักเรียน ในทีมการสอนหนึ่งๆ อาจมีจำนวนตั้งแต่ 40 - 300 คน การจัดกลุ่มคำนึงถึง อายุ ความสนใจ ความถนัด อาจใช้ชั้นเรียนเดิมหรือคละกัน ทั้งนี้แล้วแต่วัตถุประสงค์ของคณะ มีการแบ่งกลุ่มย่อย 12-20 คน คณะครูควรอยู่ระหว่าง 5-7 คน ซึ่งมีทั้งผู้มีความรู้ทั่วไปและเฉพาะทาง ครูในทีมแต่ละคนจะต้องสอนร่วมกันมีการประชุมปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันอยู่เสมอ รับผิดชอบการสอนทั้งในกลุ่มใหญ่และเป็นผู้รับผิดชอบประจำกลุ่มย่อย
6 ศูนย์การเรียน (Learning center) เป็นการจัดเนื้อหาวิชาออกเป็นหน่วยๆ แต่ละหน่วยจะมีกิจกรรม อุปกรณ์และเนื้อหา วิชาแตกต่างกัน ผู้เรียนจะเรียนรู้ด้วยการประกอบกิจกรรมจากหน่วยต่าง ๆ ตามที่กำหนดในแต่ละหน่วยการเรียนภายใต้การควบคุมของผู้สอนโดยอาศัยหลักการและทฤษฏีที่สำคัญ คือ การใช้สื่อประสม กระบวนการกลุ่ม
7 การสอนแบบจุลภาค (Micro teaching) เป็นการสอนที่ย่อส่วน หรือจำลองสถานการณ์มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมอย่างรัดกุมเป็นการสอน ในสถานการณ์ของห้องเรียนแบบง่ายๆ กับนักเรียน 5-10 คน ใช้เวลา 5 - 15นาที เปิดโอกาสให้ครูได้ฝึกฝนทักษะการสอนใหม่ ๆ หลังจากได้ดูแบบหรือตัวอย่างมาแล้ว ขณะสอน มีการบันทึกภาพเพื่อให้ครูได้ดูการสอนของตน จะได้ปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้น ก่อนนำไปทำการสอนจริงๆ การสอนแบบนี้เหมาะสำหรับการฝึกอบรมครูหรือ การสอนนักศึกษาครู
8 การจัดตารางเรียนแบบยืดหยุ่น (Flexible scheduling) เกิดจากแนวความคิดที่ว่า การเรียนรู้ในแต่ละเนื้อหาวิชานั้นไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเท่ากันเพราะการเรียนรู้ในแต่ละวิชาย่อมมีระดับความยากง่าย และวิธีการจัดลำดับ การเรียนรู้ ที่แตกต่างกันออกไป อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้เรียนนั้นย่อมมีความแตกต่างกันทั้งทางด้าน สติปัญญา ความสามารถ และช่วงความสนใจของผู้เรียนที่มีต่อวิชาต่าง ๆ นั้นไม่เท่ากัน เด็กเล็กจะมีช่วงความสนใจ ในบางวิชาเพียง 10 -15 นาที แต่เด็กโต จะมีช่วงความสนใจที่มากกว่า ดังนั้นการจัดตารางสอน จึงต้องจัดให้เหมาะสมสำหรับแต่ละวิชา
9 โครงการส่งเสริมสมรรถภาพการสอน (RIT) เป็นการจัดระบบการเรียนการสอน ที่จะลดเวลาที่ครูจะต้องสอนหรือเกี่ยวข้องกับนักเรียนให้น้อยลงกว่าอัตราเวลาเป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่ทำให้คุณภาพการศึกษา หรือผลการเรียนของนักเรียน ลดลงกว่าเดิม เช่นเดิมที่ครูต้องใช้เวลาสอน 60 นาที แต่หากนำนวัตกรรมนี้มาใช้แล้วอาจจะลดเวลาเหลือเพียง 15-30 นาทีเท่านั้น ที่นักเรียนจะเรียนกับครู เวลาที่เหลือ นักเรียนก็จะเรียนกับสื่อการเรียนต่าง ๆ ที่จัดไว้ให้ ช่วยให้ครูมีเวลา ตรวจงานนักเรียน กวดขันนักเรียนอ่อน หรือที่เรียนไม่ทันเพื่อน ครูคนหนึ่งอาจสอนนักเรียนได้หลายห้องเพราะสามารถใช้เวลาที่เหลือจากการสอนห้องหนึ่ง ไปสอนอีกห้องหนึ่งได้
10 การใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา เนื่องจากปัจจุบัน สื่อมวลชนประเภทต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสารนิตยสาร วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันในด้านการรับรู้ข่าวสาร การสร้างค่านิยม และการศึกษาประชาชนอย่างกว้างขว้าง การใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษามีทั้งในรูปการศึกษาทั่วไป และการศึกษาในวิชาการเฉพาะสาขา คุณค่าของการใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา คือ สามารถให้การศึกษาแก่ประชาชนได้รวดเร็ว และได้จำนวนมากพร้อมๆ กัน นอกจากนวัตกรรมทางการศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีนวัตกรรมทางการศึกษาอีกหลายอย่าง ที่นักศึกษา ผู้สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเอกสารตำราที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา
ดิฉันหวังว่าท่านที่เข้ามาในบล็อคนี้คงจะมีหลักในการใช้นวัตกรรมทางการศึกษากันแล้วนะคะ อย่าลืมนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาอนาคตของชาติให้ประสิทธิภาพทางการเรียนรู้นะคะ

ไม่มีความคิดเห็น: